เจ้าจอมมารดาอัมพา มีสมญาในการแสดงว่า อัมพากาญจหนา เป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระทายาทสืบเชื้อสายในสายราชสกุลกปิตถา และปราโมช
เจ้าจอมมารดาอัมพา เป็นธิดาคนที่สามจากทั้งหมดเจ็ดคนของพระยาอินทรอากร (อิน ไกรฤกษ์ หรือ โง้ว แซ่หลิม) กับมารดาชาวจีนไม่ปรากฏนาม และเกิดในประเทศจีน มีพี่น้องคือ เสง (ช.), มิน (ช.), ไม้เทศ (ญ.), เถาวัลย์ (ญ.), กลีบ (ญ.) และมุ่ย (ช.)
ทั้งนี้พระยาอินทรอากรผู้บิดา เป็นน้องชายของพระยาไกรโกษา (เริก ไกรฤกษ์) ที่ถวายตัวรับราชการต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในตำแหน่งเสมียนกรมท่าซ้าย ติดต่อค้าขายกับประเทศจีน จนลุมาสมัยรัชกาลที่ 1 จึงเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาไกรโกษา" และเป็นต้นสกุลไกรฤกษ์สืบมา ส่วนน้องชายของท่านคือ มุ่ย เป็นต้นสกุลนิยะวานนท์ และมีหลานสาวเข้ารับราชการฝ่ายในคือ เจ้าจอมมารดาเลื่อน ในรัชกาลที่ 5
เจ้าจอมมารดาอัมพาได้รับการเลี้ยงดูอย่างกุลสตรีจีนและถูกมัดเท้าเล็กตามธรรมเนียม จนอายุได้ 8 ขวบบิดาจึงนำมาอำรุงเลี้ยงต่อในไทย จึงแก้มัดเท้าดังกล่าวออกเสียและอบรมอย่างกุลสตรีไทยสืบมา เมื่ออยู่ในไทยได้เพียงปีเดียว บิดาก็ถวายตัวไปเป็นนางละครรุ่นเล็กของรัชกาลที่ 1 ด้วยมีความสามารถในการแสดงละครไทยได้อย่างงดงามและมีชื่อเสียงโดยเฉพาะบทนางกาญจหนาในวรรณคดีเรื่องอิเหนา จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นครูละครและมีโรงละครเป็นของตนเองในเวลาต่อมา จากการมีชื่อเสียงประกอบกับความงามดังกล่าวสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) จึงทรงมีจิตปฏิพัทธ์และมีความสัมพันธ์กันในเวลาต่อมา และให้ประสูติกาลพระราชบุตร 6 พระองค์ คือ
ทั้งนี้เจ้าจอมมารดาอัมพายังเป็นสตรีที่เจ้าระเบียบ แต่งกายเป็นนางในตลอดชีพคือนุ่งสไบตามสีของวัน แม้จะมีฐานะเป็นเจ้าจอมมารดาของกษัตริย์ไทยแต่เจ้าจอมมารดาอัมพาก็ไม่เคยลืมกำพืดของตน เมื่อมีญาติมาเฝ้าในวังท่านก็จะเจรจาโต้ตอบด้วยภาษาจีนเสมอ ซ้ำยังสอนภาษาจีนแก่เหล่านางในด้วยกันอีกด้วย ในช่วงที่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏออกผนวช เจ้าจอมมารดาอัมพาก็ทำเครื่องเสวยส่งจากวังทั้งเช้าและเพล จนพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏทรงซาบซึ้งนัก หลังสืบราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 4 แล้ว ก็ทรงตรัสเรียกท่านว่า "แม่พา" อยู่เสมอถือเป็นการให้เกียรติอย่างสูง ทั้งนี้เจ้าจอมมารดาอัมพามักทูลเกล้าถวายเงินอยู่เสมอ และปรารภว่า "ในหลวงแผ่นดินนี้ท่านยากจน ทรงผนวชมาแต่ทรงพระเยาว์ และลาผนวชมาเสวยราชสมบัติ ไม่มีเวลาสะสมราชทรัพย์ เงินแผ่นดินนั้นต้องทรงใช้จ่ายในราชการแผ่นดิน จะใช้สอยส่วนพระองค์อัตคัด" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงรับเงินดังกล่าวไว้ด้วยความเต็มพระทัย
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/เจ้าจอมมารดาอัมพา_ในรัชกาลที่_2